ชาวสตาร์ตอัพคนไหนกำลังมีไฟ พร้อมจะดันไอเดียตัวเองไปให้สุดทาง แต่ก็รู้สึกว่าแนวคิดที่มียังขาดอะไรไปบางอย่าง ลองเช็คดูให้ดีว่า คุณได้ทำตาม 10 บทเรียนสำคัญ จาก 10 Unicorn Startups เหล่านี้แล้วหรือยัง!

Cr. https://www.entrepreneur.com/article/305843

1. สร้างสิ่งที่ลูกค้ารัก

ในตอนที่ Airbnb กำลังเจอปัญหา ไม่รู้จะดึงให้คนมาใช้แอปอย่างไร นาย Paul Graham ผู้ก่อตั้ง Y Combinator ได้เข้ามาแนะนำ Airbnb ว่าพวกเขาควรโฟกัสกับการสร้างสินค้าที่คนจะรัก ไม่ใช่สินค้าที่คนจะชอบ

การมีคน 100 คนรักในสินค้าของเรา ย่อมดีกว่าสินค้าที่มีคนชอบ 1 ล้านคน เพราะเมื่อลูกค้ารักในสินค้าของเรา พวกเขาจะบอกต่อกับเพื่อนหรือคนสนิท จากนั้น ฐานลูกค้าของเราก็จะขยายใหญ่ขึ้น โดยนาย Paul Graham ได้ย้ำว่า แม้จะเป็นการบอกต่อ/แนะนำสินค้าของคนกลุ่มเล็ก ๆ แต่กลุ่มคนเหล่านี้ก็สำคัญมากพอที่จะทำธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้

2. สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ทุกคนเข้าถึง

Wework คือสตาร์ตอัพที่ให้บริการเกี่ยวกับ Co-Working Space สำหรับบริษัทขนาดกลางหรือขนาดเล็ก ปัจจุบัน Wework มีออฟฟิศอยู่ 477 แห่งทั่วโลก และกำลังจะมาเปิดที่ไทยเร็ว ๆ นี้!

ความน่าสนใจของ Wework คือวัตนธรรมองค์กรที่ทุกคนมีร่วมกัน นั่นก็คือ “Do what you love” ประโยคสั้น ๆ ที่เตะตาทุกคนทันทีที่เดินเข้ามาใน Co-Working Space แห่งนี้ ประโยคสั้น ๆ ที่กินใจทุกคน และทำให้ Wework เติบโตได้อย่างรวดเร็วเช่นทุกวันนี้

ทำไมวัฒนธรรมองค์กรถึงสำคัญ?

วัฒนธรรมองค์กรคือสิ่งที่ทุกคนในองค์กรมีร่วมกัน และเห็นพ้องกัน (ทุกคนในที่นี้รวมถึงพนักงานตัวเล็ก ๆ และลูกค้าของบริษัทด้วยนะ) นอกจากนี้ วัฒนธรรมองค์กรยังสื่อถึงแนวทางขององค์กร และภาพลักษณ์ขององค์กรในสายตาของคนนอกอีกด้วย ยิ่งวัฒธรรมองค์กรของคุณกินใจคนได้มากเท่าไร ลูกค้า(และลูกค้าในอนาคต) ก็จะยิ่งชอบคุณมากเท่านั้น!

3. รู้ว่าเวลาไหนควรจะปรับ

Atlassian คือบริษัทซอฟต์แวร์ชื่อดังจากออสเตรเลีย ซอฟแวร์ส่วนมากของ Atlassian จะเน้นเรื่องการทำงานเป็นทีม อาทิ Jira, HipChat (สนทนาภายในทีม) และ Confluence (แชร์เอกสาร) ในปี 2017 Atlassian ได้ประกาศซื้อกิจการของอีกหนึ่งบริษัทซอฟแวร์ที่กำลังไปได่ดีในขณะนั้นอย่าง Trello ในราคาสูงถึง 425 ล้านดอลลาร์ (ราว ๆ 14,000 ล้านบาท )

ในตอนนั้น Trello กำลังโด่งดังจากซอฟแวร์ที่ช่วยในการทำงานเป็นทีม ทำให้องค์กรสามารถจัดเรียงขั้นตอนในการทำโปรเจคได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น Atlassian ในขณะนั้นได้เล็งเห็นถึงการเติบโตของคู่แข่ง แต่ก็ไม่ยอมปรับสินค้าของตัวเอง จนสุดท้าย Atlassian ก็ต้องเสียเงินจำนวนมากเพื่อซื้อกิจการของ Trello มาเป็นของตนในที่สุด

4. จำให้ขึ้นใจว่า ในตลาดล้วนมีคู่แข่งมากกว่า 1 เจ้า

Lyft ก่อตั้งขึ้นหลัง Uber ถึง 3 ปี แม้ว่า Lyft จะเสียข้อได้เปรียบที่ไม่ได้เป็นเจ้าแรกในตลาดไป แต่บริษัทก็ยังมีมูลค่ามากกว่า 11 พันล้านดอลลาร์ แถมยังเติบโตไวกว่า Uber เสียอีก

สิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากกรณีของ Lyft คือตลาดบางตลาดนั้นใหญ่พอที่จะมีธุรกิจคล้าย ๆ กันได้หลายเจ้า แค่เพราะมีบริษัทอื่นเริ่มไปก่อนไม่ได้หมายความว่าคุณควรพับโปรเจคของตัวเอง เพราะหากคุณหา Position ของตัวเองได้ ลูกค้าก็พร้อมเปิดรับสินค้าใหม่ ๆ เสมอ

5. สินค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ก็สามารถเป็นจุดเริ่มของนวัตกรรมชั้นเยี่ยมได้

Twilio คือเทคโนโลยีที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อช่วยเหลือองค์กร หรือธุรกิจต่าง ๆ ให้สามารถพูดคุยกับลูกค้าของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สิ่งที่ Twilio สร้าง คือระบบ SMS อัติโนมัติและการสั่งงานด้วยเสียง ที่ถูกใช้งานโดย Uber, Lyft และ Netflix

Twilio คือเครื่องยืนยันว่า แม้จะเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่มที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป (เพราะกลุ่มลูกค้าของ Twilio คือองค์กรต่าง ๆ) แต่สินค้าที่ดี ย่อมสามารถส่งสตาร์ตอัพไปเป็นยูนิคอร์นได้

6. ผู้บริโภคจะมองหาการบริการที่ง่าย และสะดวกสบายอยู่เสมอ

ในระยะหลัง ๆ หลาย ๆ สตาร์ตอัพต่างก็หันมาสนใจธุรกิจการซื้อขาย ชอปปิงออนไลน์มากขึ้น โดยเน้นให้โมเดลของตนสะดวกและรวดเร็วกว่าคนอื่น อย่างล่าสุดก็มีการขนส่งทางโดรน และโกดังอัติโนมัติออกมา เพราะแต่ละบริษัท ต่างก็รู้ว่าผู้บริโภคมีความคาดหวังในความสะดวกสบายมากขึ้นทุกวัน

อย่างไรก็ตาม ให้จำไว้เสมอว่าระบบอัตโนมัติไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง Instacart (สตาร์ตอัพเกี่ยวกับการซื้อของจากร้านชำแบบออนไลน์) ที่ตระหนักได้ถึงเรื่องนี้ จึงส่งคนไปร้านขายของชำ แล้วให้คนของตนเลือกซื้อสินค้าให้ลูกค้าด้วยตัวเอง และเมื่อการสั่งซื้อเสร็จสิ้น สินค้าที่สั่งไว้ก็จะถูกส่งถึงหน้าบ้านภายในเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง

7. ขายสิ่งที่คุณอยากใช้เอง

เชื่อหรือไม่ว่า สิ่งที่ยากที่สุดของโปรแกรมเมอร์ คือการเขียนโค้ดนี่แหละ! หากผิดพลาดแม้แต่จุดเดียว โค้ดทั้งหมดก็อาจจะหยุดทำงานลงได้ง่าย ๆ โปรแกรมเมอร์ทั้งหลายจึงต้องหมั่นตรวจสอบเป็นระยะ ๆ ทำให้การเขียนโค้ดดำเนินไปอย่างล่าช้า

“New Relic” จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหานี้โดยเฉพาะ! New Relic คือเครื่องมือที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อช่วยเรื่องการตรวจสอบระบบ แสดงผล Error ต่าง ๆให้เป็นไปโดยอัติโนมัติ เพื่อร่นระยะเวลาในการตรวจโค้ด และผลจากการสร้างสิ่งที่เหล่าโปรแกรมเมอร์ทั้งหลายต้องการ New Relic ก็กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ากว่า 3 พันล้านไปอย่างสวยงาม

8. องค์กรขนาดกลางมีค่ากว่าที่คุณคิด

HubSpot ก่อตั้งขึ้นในปี 2005 โดยทำธุรกิจกับบริษัทขนาดและขนาดกลาง เพราะไม่มีตัวเลือกมากนัก แต่ในตอนนี้ HubSpot กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ากว่า 3 พันล้านไปแล้วเรียบร้อย ทั้งยังรับทำ Marketing แบบ all-in-one ดูแลธุรกิจกว่าพันอย่างทั่วโลก

ต่างกับคู่แข่งอย่าง Marketo ที่ค่อย ๆ ไต่เต้าจากบริษัทขนาดกลาง รับทำ Marketing ให้บริษัทขนาดใหญ่ แต่ยังประสบความสำเร็จไม่เท่า HubSpot ในตอนนี้

9. ผู้บริโภคพร้อมสนับสนุนองค์กรที่เจ๋งเสมอ!

จากการสำรวจของ Google พบว่า ชาว Gen Y (คนที่เกิดปี ค.ศ. 1980 – 1998) และ Gen Z (คนที่เกิดหลังปี ค.ศ.1998) ต่างก็คิดว่า Tesla (บริษัทผลิตรถยนตร์ไฟฟ้า) คือบริษัทที่เจ๋งที่สุดในโลก Tesla กลายเป็นเป้าหมายของคนกลุ่มนี้ แม้ว่าหลายคนในนั้นจะยังไม่โตพอที่จะขับรถได้ก็ตาม

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่า ผู้บริโภคพร้อมจะสนับสนุนบริษัทที่มีเป้าหมายในการเปลี่ยนโลกเสมอ นอกจากจะมีภาพลักษณ์ทางบวกในใจผู้บริโภคแล้ว มูลค่าบริษัทและหุ้นของ Tesla ก็สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะนักลงทุนต่างก็เชื่อว่า Tesla จะต้องกลายมาเป็นตัวเลือกยอดนิยมในอนาคตอย่างแน่นอน

10. การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ในทุกอย่าง ไม่เว้นแม้แต่รัฐบาล

หลายคนอาจคิดว่า รัฐบาลคือหนึ่งในหน่วยงานที่มั่นคงในขนบธรรมเนียมเดิม ไม่มีวันเปลี่ยน แต่สตาร์ตอัพสุดลึกลับอย่าง Palantir ก็ทำให้เราเห็นว่า รัฐบาลพร้อมรับนวัตกรรมใหม่ ๆ หากมันเป็นโครงการที่ดีพอ!

Palantir คือบริษัทที่สร้างเทคโนโลยีเกี่ยวกับการตรวจจับพฤติกรรมที่น่าสงสัยให้กับรัฐ เพื่อใช้ในการจับอาชญากร และปราบอาชญากรรมร้ายแรง ถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่เป็นที่รู้จักมากนักสำหรับคนทั่วไป แต่พวกเขากลับโด่งดังในหมู่ Data Scientist ระดับโลก รวมถึง Software Engineer แบบสุด ๆ เพราะ Palantir สามารถเข้าไปเป็นกำลังสำคัญของรัฐได้สำเร็จ แม้คนจะมองว่ารัฐแตะต้องไม่ได้นั่นเอง