“Lean Startup” คืออะไร? ทำไม Startups ที่ประสบความสำเร็จหลากหลายแห่ง จึงเลือกดำเนินตามวิธีการนี้ มาดูกัน!
“สร้างสินค้าที่คนต้องการ” คือเส้นทางของ Lean Startup
ในยุคที่ผู้ประกอบการหลายคน เริ่มหันมาเดินตามเส้นทางของ Startup สินค้าและผลิตภัณฑ์มากมายที่ถูกผลิตขึ้นก็มีทั้งที่ดีและไม่ดี น่าเสียดายที่ Startups ส่วนมากมีชีวิตอยู่ได้ไม่ยืนยาวนัก หลักใหญ่ ๆ เลยมาจากการที่ Startups ไม่สามารถสร้างสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการได้ เมื่อตลาดไม่สนใจ ธุรกิจก็มีแต่ต้องปิดตัวลง
เพื่อแก้ปัญหาที่เหล่า Startups ต้องเผชิญ วิธีการแบบ Lean Startup จึงถูกคิดค้นขึ้น! แล้ว Lean Startup คืออะไร? Lean Startup คือแนวทางการสร้างธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับผู้บริโภคเป็นหลัก เพื่อให้สามารถผลิต “สินค้าที่คนต้องการ” ออกมาได้ ด้วยทรัพยากรเท่าที่จำเป็น
ผู้ผลิตจะต้องโฟกัสไปที่ “ผู้บริโภคเป็นหลัก” ศึกษาให้แน่ใจว่าผู้บริโภคมีลักษณะการซื้อแบบใด ทดลองจนแน่ใจว่าสินค้าชนิดนี้จะขายได้ แล้วจึงค่อยนำออกวางขาย นั่นจึงเป็นวิธีแบบ Lean Startup หรือการทำธุรกิจเพื่อให้เกิดผลกำไร และขาดทุนน้อยที่สุด
แนวทางของ Lean Startup
หลักการสำคัญของ Lean Startup คือการทำความเข้าใจกับความต้องการของผู้บริโภคก่อน แล้วจึงค่อยผลิตสินค้าออกมาขายจริง “Lean Startup” จะให้ความสำคัญกับขั้นตอนการเรียนรู้มากกว่าขั้นตอนอื่น ๆ เพราะหากรีบทำสินค้าออกมาโดยที่ยังไม่รู้ว่าผู้บริโภคต้องการอะไร ก็มีสิทธิ์ขาดทุนได้ง่าย Startups ที่เพิ่งเริ่มต้นด้วยทุนเล็ก ๆ จึงควรศึกษาให้แน่ใจก่อน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเงินทุนที่ลงไป จะได้ความสำเร็จกลับคืนมา
โดยวิธีศึกษาความต้องการของผู้บริโภคก็สามารถทำได้หลายแนวทางเลย เช่น สัมภาษณ์ผู้บริโภคโดยตรง ลองทำเซอร์เวย์สำรวจความต้องการ หรือทำสินค้าตัวอย่างออกมาให้ผู้บริโภคทดลองใช้แล้วรอฟัง Feedback
แต่เส้นทางของ Lean Startup ส่วนมาก ควรเริ่มจาก
1. ศึกษาจนทราบความต้องการผู้บริโภค
2. ลองผลิตสินค้าตัวอย่างออกมา โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้าที่ดีที่สุด แต่เป็นสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้
3. นำสินค้าตัวอย่างไปให้กลุ่มผู้บริโภคลองใช้ เพื่อทดสอบตลาดว่า สินค้าชิ้นนี้เป็นที่ต้องการตามที่เราคิดไหม
4. ฟัง Feedback แล้วปรับปรุงสินค้า
5. นำไปให้ผู้บริโภคทดลองใช้อีกครั้ง
6. ฟัง Feedback แล้วปรับปรุงสินค้า
7. ทำวนไปเรื่อย ๆ จนได้สินค้าที่เรามั่นใจว่า หากผลิตของชิ้นนี้ออกมาจริง ๆ เราจะไม่มีทางขาดทุน
ตัวอย่าง Startups ที่ใช้วิธีแบบ Lean Startup
Dropbox เริ่มต้นเส้นทางของตัวเองด้วยการทำคลิปอธิบายวิธีใช้ Dropbox แบบเข้าใจง่าย ความยาว 3 นาที เพื่อให้คนเข้าใจตัวสินค้ามากขึ้น หลังจากคลิปถูกเผยแพร่ก็มีคนสนใจอยากใช้ตัว Demo มากขึ้นจริง ๆ Dropbox จึงลงมือผลิตตัวจริงขึ้นมาหลังจากนั้น
ดูคลิป Demo ของ Dropbox : https://www.youtube.com/watch?v=7QmCUDHpNzE
Nick Woodman (ผู้คิดค้น GoPro) ค้นพบว่า นักโต้คลื่นจำนวนมาก มักจะซื้อกล้องถูก ๆ แบบใช้แล้วทิ้ง เพื่อเอาไปถ่ายภาพโคลสอัพตอนที่พวกเขาเล่นน้ำ เพราะมันถูก ต่อให้พังก็ไม่เสียดาย
Nick จึงตัดสินใจผลิตกล้องแบบกันน้ำขึ้น โดยให้ตัวกล้องติดอยู่กับข้อมือ เพื่อให้นักกีฬาสามารถใช้กล้องตัวนี้เก็บภาพได้สะดวกขึ้น เขาวางขายสินค้าชิ้นนี้ในปี 2005 และ บู้ม! ยอดขายของมันบอกชัดเจนว่านี่คือสิ่งที่ตลาดต้องการ
จุดเริ่มแรกของ Airbnb มาจากกลุ่มผู้ก่อตั้งที่เล็งเห็นว่า มีโรงแรมมากมายในซานฟรานซิสโกที่มีการจองเกินจำนวนอยู่ (มีการจองมากกว่าจำนวนห้องที่มีอยู่จริง) ในช่วงที่จัดงาน Industrial Design Society of America Conference (IDSA) ปี 2007
พวกเขาจึงจัดการตกแต่งห้องนั่งเล่นของตัวเองด้วยเครื่องนอนทั้งหลาย แล้วเปิดเว็บไซต์ Airbedandbreakfast ขึ้นเพื่อประกาศว่า มีห้องพักว่างอยู่เสียเลย และคืนนั้นพวกเขาก็ได้แขกไปถึง 3 คนเชียวล่ะ!
Uber ก็มีการทำ MVP หรือสินค้าตัวอย่างออกมาลองตลาดก่อนเช่นกัน โดย MVP ของ Uber มีชื่อว่า “UberCab” มีฟังก์ชันง่าย ๆ แค่ไม่กี่อย่าง คือ ระบบติดตามรถแบบเรียลไทม์ ระบบหารค่ารถ ระบบจ่ายเงินด้วยบัตร และระบบคำนวณค่าเดินทางที่เป็นกลาง ในตอนแรกมันถูกผลิตขึ้นเพื่อใช้ในกลุ่มผู้ก่อตั้งและคนรู้จักเท่านั้น แต่ความน่าสนใจของ “UberCab” ก็ทำให้ฐานผู้ใช้ขยายมากขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
ที่มา
https://thumbsup.in.th/2012/09/lean-startup/
https://medium.com/@LoganTjm/how-uber-airbnb-dropbox-released-mvps-to-achieve-rapid-growth-d823ac6eaed5