ช่วงนี้หลาย ๆ บริษัท น่าจะเริ่มปรับตัวให้มีการทำงานที่บ้าน (Work from home) เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ Covid-19 กันบ้างแล้วใช่ไหมคะ? ในบางสายงาน การทำงานที่บ้านก็อาจจะไม่ได้ต่างอะไรกับการทำที่ออฟฟิศนัก ในขณะที่บางสายงานยังต้องปรับตัวขนานใหญ่ ได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ

นอกจากอุปสรรคเรื่องระบบการทำงานแล้ว ก็มีเรื่องกำลังใจในการทำงาน หรือ Productivity นี่แหละ! ที่เป็นปัญหาเหลือเกิน ไม่รู้ทำไมการนั่งทำงานที่บ้านถึงทำให้เรารู้สึกเฉื่อยชา ง่วงหงาวหาวนอนได้ขนาดนี้! วันนี้ Start ให้ Up เลยขอพา 10 เทคนิคดี ๆ สำหรับสร้างความ Productive สร้างแรงในการปั่นงาน เมื่อต้อง Work from home มาฝากทุกคนกันค่ะ

1. เริ่มงานเร็วขึ้น

ข้อดีที่สำคัญที่สุดของการทำงานที่บ้าน ก็คือการไม่ต้องเดินทางนี่แหละ! ประหยัดเวลาและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไปได้เยอะมาก ๆ และถ้าเราตัดเวลาที่ต้องใช้ในการเดินทางออกไป ก็แปลว่าเราสามารถเริ่มทำงานได้เร็วขึ้น!!

การลุกจากเตียงเพื่อมาทำงานอาจฟังดูน่าเบื่อเอามาก ๆ แต่เชื่อเถอะว่าการทำงานเป็นกิจกรรมแรกในทุก ๆ เช้ามันดีจริง ๆ เพราะคุณจะยังไม่ได้ใช้พลังงานไปกับสิ่งอื่น ๆ อาทิ การเบียดเสียดบนรถไฟฟ้า หรือแต่งหน้าปิดรอยดำใต้ตา นั่นทำให้คุณสามารถเริ่มงานด้วยสมองที่ปลอดโปร่งมากขึ้นกว่าวันปกติได้ เหมาะกับคนที่ต้องใช้ความครีเอทีฟในการทำงานสุด ๆ ไปเลยล่ะ

นอกจากนี้ การเริ่มงานเร็วขึ้น ยังหมายความว่าคุณจะได้เลิกงานเร็วขึ้นด้วยนะ แค่คิดว่าจะได้เลิกงานเร็วกว่าเดิมก็ดีต่อใจแล้วใช่ไหมล่า~

2. จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการทำงาน

การนั่งคิดงานบนโซฟานุ่ม ๆ อาจฟังดูน่าสบาย แต่เชื่อเถอะว่าอีกสักพัก คุณจะเริ่มรู้สึกได้ถึงความปวดเมื่อยบริเวณคอและหลังแบบแสนสาหัสเลยเชียว

ลองจัดมุมทำงานให้เป็นสัดเป็นส่วนดูไหม? จัดโต๊ะและเก้าอี้สักชุด วางหมอนสักใบไว้สำหรับซัพพอร์ตแผ่นหลัง ถ้าคุณสามารถเลื่อนโต๊ะทำงานไปแถว ๆ หน้าต่าง เพื่อรับแสงธรรมชาติได้ก็ยิ่งดีเลย! และถ้าคุณมีทุนมากพอ ก็ลองมองหา ‘ที่วางโน๊ตบุ๊ก’ (Laptop Support) สักอันมาใช้ดู เพราะเจ้าสิ่งนี้จะช่วยให้ท่าทางการทำงานของคุณอยู่ถูกที่ถูกทาง ไร้ปัญหาปวดเมื่อยในระยะยาว

3. แยกพื้นที่ให้ชัดเจน

หากคุณทำตามเทคนิคข้อ 2 เรียบร้อยแล้ว ให้ลองคิดและย้ำกับตัวเองว่า ‘มุมทำงาน’ ตรงนี้ คือพื้นที่สำหรับทำงานจริง ๆ แล้วปล่อยให้โซฟาแสนสบายหรือเตียงนุ่ม ๆ ของคุณ เป็น ‘มุมพักผ่อน’ ที่คุณจะย้ายไปหามัน เมื่อต้องการ Relax ร่างกายชั่วครู หรือเมื่อคุณต้องการไอเดียใหม่ ๆ แทน

4. อย่าปล่อยให้หูเงียบเหงา

อิสระของการทำงานที่บ้าน คืออิสระในการเป็นผู้เลือกว่าวันนี้จะฟังเพลงอะไรดี! งานวิจัยหลาย ๆ ตัวชี้ชัดว่า เสียงเพลงมีผลต่อสมาธิของเรา เพลงที่มีเสียงร้อง หรือดนตรีบรรเลงที่มีโทนเดียวกับเสียงร้อง อาจทำให้คุณเสียสมาธิ และไขว้เขวกับงานที่ทำอยู่ได้ เพราะงั้นก็จงเก็บเพลงเหล่านั้นไว้สำหรับตอนพัก

แล้วเปิดเพลงบรรเลงเพราะ ๆ ตอนทำงานแทน จะเป็นเพลงบรรเลงเร็ว ๆ ที่ทำให้รู้สึกสนุก เพลงบรรเลงช้า ๆ ที่เข้ากับงานที่ทำ หรือเสียงจากธรรมชาติ อย่างเสียงน้ำไหล เสียงนกร้อง หรือเสียงฝน ก็ส่งผลดีกับการทำงานทั้งนั้น

5. อย่าลืมตั้งเวลาพักเบรก ให้ร่างกายได้พัก

บางครั้งการนั่งทำงานคนเดียว ก็ทำให้รู้สึกเหมือนเวลาผ่านไปไว แค่นั่งคิดงานจริง ๆ จัง ๆ แบบไม่ได้สนใจเวลา เผลอแปบเดียวก็ 4 โมงเย็นแล้วซะงั้น

วิธีนี้แก้ได้ไม่ยาก แค่ลองตั้งนาฬิกาปลุกให้ดังทุกชั่วโมงดู แล้วลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสาย หรือลงไปชงชาดื่มสักแก้วดู ปิดเพลงที่ช่วยสร้างสมาธิก่อน เพื่อให้สมองรับรู้ถึงบรรยากาศที่เปลี่ยนไป อาจจะย้ายไปนั่งที่โซฟาตรงมุมพักผ่อนของคุณดู และถ้าเป็นไปได้ ก็ลองทำตาม ‘กฎ 20-20-20’ มองออกไปนอกหน้าต่างไกล ๆ เพื่อพักสายตาสัก 20 วินาที แค่นี้ก็ช่วยให้สมองเรากลับมาสดใส พร้อมทำงานต่อแล้วล่ะ!

** ‘กฎ 20-20-20’ คือวิธีบริหารสายตา โดยการพักสายตาทุก ๆ 20 นาที มองออกไปที่ไกล ๆ ความห่างประมาณ 20 ฟุต เป็นเวลา 20 วินาที

6. บอกตารางงานของคุณกับคนที่บ้านด้วยนะ

ไม่ว่าคุณจะแพลนงานมาดีแค่ไหน แต่บางครั้งคนที่บ้านก็ดูพร้อมที่จะทำลายทุกกฎเกณฑ์เข้ามาทำให้คุณเสียสมาธิกับงานที่ทำอยู่ได้เสมอ วิธีแก้ของปัญหานี้ ทำได้ไม่ยากเลย เริ่มจากให้ลองบอกคนที่บ้านก่อน ว่าวันนี้คุณมีงานอะไรต้องทำ แล้วกำหนดเวลาไว้

เช่น ช่วงบ่าย 2 – บ่าย 3 คุณจะยุ่งมาก ๆ แต่หลังจากนั้น คุณจะมีเวลาราว ๆ 20 นาที ให้พวกเขาแบบเต็มที่เลย หากที่บ้านคุณมีเด็ก ๆ อยู่ ลองกำหนดภารกิจหรืองานอะไรบางอย่างให้พวกเขาทำตอนช่วงที่คุณยุ่ง ๆ กะเวลาให้ว่างพร้อม ๆ กันดู เพื่อลดความเป็นไปได้ที่ถูกคนที่คุณรักมาทำให้ไขว้เขว

7. ถอดชุดนอนทิ้งไป แล้วลุกขึ้นมาแต่งตัวซะ!

แน่ล่ะว่า การทำงานบนเตียงในชุดนอนมันแสนจะสะดวกสบาย แต่พอเวลาผ่านไป สักช่วงเที่ยง ๆ คุณก็จะเริ่มรู้สึกเปื่อย เหนื่อยอ่อน พร้อมนอนเสียยิ่งกว่าตอนกลางคืนเสียอีก

ลองลุกขึ้นมาอาบน้ำ แต่งตัวก่อนเริ่มงานดู ถอดชุดนอนแสนสบายทิ้งไป แล้วมองหาชุดสบาย ๆ ใส่ดีกว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นชุดทำงานเต็มยศ (แต่จะเป็นก็ได้ ถ้าคุณชอบแบบนั้น) เลือกเป็นชุดอยู่บ้านสบาย ๆ ก็เพียงพอแล้ว! การได้อาบน้ำ แต่งตัว จะช่วยให้คุณรู้สึกสดชื่น พร้อมทำงานมากขึ้น เพราะสมองได้รับรู้แล้วว่า คุณไม่ได้อยู่บ้านเพื่อนอนนะ!

8. เตรียมพร้อมรับสำหรับการ Video Call

คุณไม่มีทางรู้ได้เลยว่าการประชุมทีม จะเซอร์ไพรส์คุณเมื่อไร แถมมันอาจจะเป็นการ Video call อีกต่างหาก! ดังนั้น อย่าลืมเก็บห้องให้เรียบร้อย เตรียมหูฟังหรือเฮดโฟนไว้ให้พร้อม อาจจะมีปากกาและสมุดจดไว้ข้าง ๆ จะได้ไม่เสียเวลาตามหาเมื่อมีการประชุมด่วน และที่สำคัญ เตรียมใจไว้ให้พร้อม จะได้ไม่ตื่นเต้นจนลืมจดประเด็นสำคัญไป

9. ลองใช้เครื่องมือที่ช่วยเรื่องการทำงานเป็นทีมดู

การตามงานผ่านเฟซบุ๊กหรือไลน์อาจจะไม่มีประสิทธิภาพมากพอเมื่อต้องทำงานกันเป็นทีม ลองใช้เครื่องมือที่ช่วยด้านนี้จริง ๆ จัง ๆ อย่าง Asana หรือ Trello ดูไหม? เครื่องมือเหล่านี้จะช่วยให้ทีมเห็นภาพรวมของงานมากขึ้น รู้ว่างานไหนอยู่ที่ใคร และงานไหนกำลังเร่งด่วน

การเปลี่ยนมาใช้เครื่องมือเหล่านี้อาจจะทำให้คุณเสียเวลาจัดระบบใหม่ในช่วงแรก ๆ แต่รับรองได้เลยว่าดีในระยะยาวแน่นอน!

10. ตั้งเวลาให้ตัวเองได้มีช่วงออกกำลังกายหรือช่วงผ่อนคลายบ้าง

ในเมื่อคุณไม่ต้องเสียเวลากับการเดินทางแล้ว ลองเอาเวลา 1- 2 ชม. ตรงนั้น มาทำอะไรเพื่อตัวเองกันไหม? การจัดเวลาไว้ทำสิ่งที่คุณอยากทำ แต่ไม่เคยได้ทำ (เพราะไม่มีเวลาพอ) จะช่วยลดความเครียด เพิ่มความสุขให้ตัวเองได้อย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะความรู้สึกเติมเต็มที่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำเสียที จะว่าเป็นความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ในแต่ละวันก็ได้

โดยอาจจะเป็นการทำโยคะสัก 20 นาที ออกกำลังกายสักเซ็ตให้ร่างกายได้ใช้แรงบ้าง วาดรูปชิว ๆ หรืออ่านหนังสือเล่มที่ซื้อไว้เมื่อนานมาแล้ว ลองทำดู แล้วคุณจะรู้สึกดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อเลย!

หวังว่า 10 เทคนิคนี้จะช่วยให้เพื่อน ๆ สามารถปั่นงานที่บ้านได้แบบมีประสิทธิภาพมากขึ้นนะคะ! ส่วนใครที่ยังต้องเดินทางไปที่ต่าง ๆ อยู่ในช่วงนี้ ก็อย่าลืมป้องกันตัวเองให้ดีล่ะ! และสำหรับเพื่อน ๆ ที่กำลังเล็ง ๆ ทำการค้าขายออนไลน์ ใช้การทำงานที่บ้านให้เป็นประโยชน์อยู่ ก็ลองแวะไปดู 3 สูตรสำเร็จ เพิ่มยอดขาย สำหรับ E-COMMERCE ยุค 2020! ได้เลย

ที่มา
https://www.eu-startups.com/2020/03/10-tips-for-productive-homeworking/