ปัจจุบัน มี ‘ดาวเทียม’ จำนวนมากถูกส่งขึ้นไปยังวงโคจรเพื่อถ่ายภาพจากนอกโลก ดาวเทียมเหล่านี้บ้างก็จบลงที่ต้องกลายเป็นวัตถุว่างเปล่าล่องลอยในอวกาศ และบ้างก็พุ่งเข้าปะทะกันจนกระจัดกระจายเป็นเศษซาก

ดาวเทียมเหล่านี้ต้องหยุดการทำงานลงเพราะหลาย ๆ สาเหตุ อาทิ รังสีที่รุนแรง หรือการทำงานที่ผิดปกติ เมื่อดาวเทียมใช้งานต่อไม่ได้ องค์กรก็ต้องส่งตัวใหม่ขึ้นมา เพื่อความต่อเนื่องของภาพ แต่องค์กรเหล่านี้จะเอาดาวเทียมตัวใหม่ไปแทนที่ตัวเก่าไม่ได้ จนกว่าเศษซากเหล่านั้นจะหลุดจากวงโคจรไปเอง

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ ‘Nobu Okada’ ก่อตั้ง Astroscale ขึ้น …เพื่อกำจัดขยะอวกาศจำนวนมากที่ล่องลอยอยู่ในอวกาศ!

ซากขยะอวกาศเหล่านี้มีจำนวนมากมาย หลากหลายขนาด ถ้านับแค่ที่มีขนาดใหญ่กว่า 10 cm. ก็มีมากกว่า 23,000 ชิ้น ใหญ่สุดที่พบตอนนี้ คือราว ๆ 8 – 9 เมตร หรือประมาณรถบัสสองชั้น ในขณะที่ชิ้นเล็กสุด จะอยู่ที่ราว ๆ 1 mm.

ขยะเหล่านี้สามารถเดินทางได้เร็วกว่าลูกปืนถึง 40 เท่า นั่นทำให้การปะทะกันของเศษซากอวกาศมีพลังรุนแรงมาก ความหนาแน่นของดาวเทียมที่ตายแล้วเหล่านี้ ทำให้พวกมันมีโอกาสชนกันมากขึ้น จนเสียงส่วนมาก (จากคนในวงการอวกาศ) ลงความเห็นว่า ควรรีบทำลายวัตถุเหล่านี้ซะ ก่อนที่มันจะชนกันจนแหลกละเอียดแล้วกำจัดยากขึ้น

วิธีการของ Astroscale ในการกำจัดขยะอวกาศเหล่านี้ คือ การสร้างดาวเทียมขึ้นมาเพื่อไล่จับซากขยะ ตั้งความเร็วให้มีค่าเท่ากับเป้าหมาย และเมื่อจับได้แล้ว ดาวเทียมของเราก็จะทำให้ขยะชิ้นนั้นตกลงสู่ชั้นบรรยากาศ เพื่อเผามันซะ! …นี่เป็นเพียงทฤษฏีคร่าว ๆ ในการไล่จับซากขยะอวกาศของ Astroscale เท่านั้น เพราะตอนนี้พวกเขากำลังอยู่ในช่วงพัฒนาระบบการจับขยะอยู่

อย่างไรก็ตาม นอกจากไอเดียการจับขยะที่ยังคงเป็นเพียงสมมุติฐานแล้ว อีกอุปสรรคสำคัญของธุรกิจนี้ก็คือ ราคา งานวิจัยหลาย ๆ ตัวกล่าวว่า ราคาในการกำจัดวัตถุใหญ่ ๆ สักชิ้น จะอยู่ที่ 200 – 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก็เป็นจำนวนที่มากทีเดียว นี่จึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลยังไม่ลงมือกับปัญหานี้อย่างจริงจังนั่นเอง

ที่มา
https://www.techinasia.com/startup-clean-space-junk