สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัว 23 Startup ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ สเปซ-เอฟ (SPACE-F) อย่างเป็นทางการ!

SPACE-F คือโปรแกรมการพัฒนา Startup ด้านอาหารในระดับนานาชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับฐานะ “ครัวโลก” ของประเทศไทย ด้วยการนำนวัตกรรมมาช่วยยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร พร้อมผลักดัน Startup สาขานวัตกรรมอาหารให้มีคุณภาพ มีความหลากหลาย สอดรับกับความต้องการของภาคธุรกิจ

ในปีนี้ SPACE-F ได้รับใบสมัครจาก Startup 142 ทีมทั่วโลก ทางคณะกรรมการได้คัดเลือกจนเหลือ 23 ทีม ประกอบด้วยประเภท Incubator หรือประเภทบ่มเพราะนวัตกรรม จำนวน 12 ทีม และ Accelerator หรือประเภทเร่งผลักดันความสำเร็จ จำนวน 11 ทีม ได้แก่

ประเภท Incubator
1 Anrich3D 3D-Printing สำหรับการออกแบบโภชนการอาหารได้เอง จากอินเดีย
2 E.I.S. เซ็นเซอร์ตรวจสอบคุณภาพเครื่องดื่ม จากไทย
3 EAT’ Straw หลอดรับประทานได้จากข้าวสาลี จากไทย
4 Insight เซ็นเซอร์ตรวจสอบคุณภาพผลไม้ จากไทย
5 Jus De Mangue ไซเดอร์มะม่วงเบาไร้แอลกอฮอล์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบเมทาบอลิซึมและต้านการเกิดมะเร็ง จากไทย
6 MEMEAL บริการให้คำแนะนำ ออกแบบโภชนาการ พร้อมเสิร์ฟถึงที่ จากไทย
7 Nithi Foods Company Limited โปรตีนจากพืช จากไทย
8 Phum meal เทคโนโลยีการเพาะปลูกผำ/ไข่น้ำ พืชตระกูลแหนโปรตีนสูง จากไทย
9 Quali-Fresh เซนเซอร์ควบคุมอุณหภูมิสินค้า จากไทย
10 SKY-D เส้นพาสต้าจากเฉาก๊วย จากไทย
11 Thaanthai อาหารไทย Street food ที่ทำจากพืช จากไทย
12 Zenostic เซ็นเซอร์ตรวจสอบจุลินทรีย์ที่ใช้ไฮโดรเจนแทนการใช้ซิลิคอน เพื่อความรวดเร็ว แม่นยำ และราคาถูก จากไทย

ประเภท Accelerator
1 Advantir Innovations เครื่องผลิตไอศกรีมซอฟเซิร์ทระบบแคปซูล จากสิงคโปร์
2 Alchemy Foodtech สารปรุงแต่งเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด จากสิงคโปร์
3 Eden Agritech สารเคลือบเพื่อช่วยยืดอายุผลไม้ให้ยาวนานขึ้น 2-3 เท่า หรือประมาณ 15 วัน จากไทย
4 eX Labs เซ็นเซอร์ตรวจจับแอลกอฮอล์และอาหารปลอม จากไทย
5 HydroNeo ระบบ IOT สำหรับฟาร์มกุ้ง เพื่อควบคุมคุณภาพน้ำและการให้อาหาร จากเยอรมัน
6 JuiceInnov8 เทคโนโลยีชีวภาพลดน้ำตาลในน้ำผลไม้ด้วยจุลินทรีย์ จากไทย
7 Khaisook ไข่ขาวพร้อมรับประทาน จากไทย
8 Manna Foods คุ้กกี้จากแมลง จาก USA
9 Orgafeed อาหารสุนัขจากแมลง จากไทย
10 Sixtein โปรตีนจากจิ้งหรีดที่เลี้ยงด้วยหนอนแมลงวันลาย จากไทย
11 WeOrder แพลตฟอร์มสำหรับการบริหารจัดการร้านอาหาร จากนอร์เวย์

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศไทย ในยุคดิจิทัลดิสรัปชั่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อมเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนธุรกิจอาหาร

แต่ก็ต้องตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้อย่างเท่าทัน ทั้งในการผลิต การบริการ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการเหลือทิ้งของอาหาร เช่น การนำวัตถุดิบที่ถูกคัดทิ้งมาแปรรูป หรือทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ หรือไม่เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สิ้นเปลืองทรัพยากรในกระบวนการผลิต การนำระบบ AI มาใช้ เช่น ในการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ โปรแกรมการผลิตแบบอัจฉริยะ การพัฒนาการเกษตรในเมืองเพื่อรองรับปริมาณประชากรและความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น รวมถึง การพัฒนาอาหารเฉพาะกลุ่ม เช่น อาหารสำหรับผู้สูงวัย อาหารที่ให้พลังงานทดแทน โครงการ “สเปซ-เอฟ” จึงถือเป็นก้าวที่สำคัญสำหรับนวัตกรรมของประเทศในการเตรียมพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร

SPACE-F มุ่งพัฒนา Foodtech Startup ใน 9 สาขา ได้แก่ อาหารเพื่อสุขภาพ โปรตีนทางเลือก กระบวนการผลิตอาหารอัจฉริยะ บรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต วัตถุดิบและส่วนผสมอาหารใหม่ ๆ วัสดุชีวภาพและสารเคมี เทคโนโลยีการบริหารจัดการร้านอาหาร การตรวจสอบควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร และบริการอัจฉริยะด้านอาหาร ประกอบไปด้วยโปรแกรมการสนับสนุนจาก 3 ภาคหลักที่สำคัญ ได้แก่ ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา

โดยในส่วนของ NIA นั้นจะให้การสนับสนุนตั้งแต่ การดึงหน่วยงานร่วมทั้งจากภาครัฐและเอกชนเข้ามาช่วยบ่มเพาะ Startup เช่น สถาบันการเงิน องค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โปรแกรมสนับสนุนการระดมทุน ไปจนถึงการช่วยอำนวยความสะดวกการออกสมาร์ทวีซ่า นอกจากนี้ ยังจะมีการสนับสนุนช่องทางตลาด การประชาสัมพันธ์ การออกงานอีเว้นท์ เช่น Startup Thailand, Innovation Thailand Expo ต่อเนื่องไปถึงการสร้างความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา Startup ภายในโครงการร่วมกัน 

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้อุตสาหกรรมการผลิตอาหารจะเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้อย่างมหาศาลให้กับประเทศไทย แต่การพึ่งพิงการผลิตเพียงอย่างเดียวอาจทำได้เพียงระยะเวลาในอีกไม่กี่ปีหลังจากนี้ เนื่องด้วยตลาดการแข่งขันของธุรกิจอาหารกำลังจะมุ่งหน้าไปที่การพัฒนาบริการ และนวัตกรรมอันทันสมัยที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ SPACE-F จึงเป็นคำตอบหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนา Foodtech Startup ที่จะเป็นผู้คิดค้นโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ และตอบสนองความต้องการตลาดอาหารผู้บริโภคได้อย่างเท่าทัน โดย Startup เหล่านี้ล้วนเข้าใจปัญหาของระบบซัพพลายเชนในธุรกิจอาหารอย่างถ่องแท้และมีแผนทางธุรกิจที่สามารถเติบโตและขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว

ด้าน ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มด้านนวัตกรรม บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไทยยูเนี่ยน ในฐานะบริษัทผู้ผลิตอาหารทะเลระดับโลก และเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญด้านนวัตกรรมอย่างจริงจังมาโดยตลอด โดยความร่วมมือในครั้งนี้ ทางบริษัทฯ ได้นำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการนำนวัตกรรมอาหารมาสู่ภาคธุรกิจ มาเป็นแนวทางให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้นำความรู้ความเข้าใจไปปรับใช้ และนอกเหนือจากศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยนแห่งแรก ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เปิดให้ Startup ในโครงการเข้ามาใช้เพื่อทดลองและวิจัย รวมถึงองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์โดยมืออาชีพแล้ว เรายังมีบุคลากรในด้านอื่น ๆ เช่น ด้านการบริหารจัดการ และการเงิน เป็นต้น เข้าแนะนำแนวทางพร้อมแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ทั้ง Incubator และ Accelerator ทั้ง 23 ทีม จะสามารถต่อยอดทั้งด้านนวัตกรรมและประสบความสำเร็จด้านธุรกิจไปด้วยกัน

รศ.ดร. สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นคณะวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าของประเทศไทย เป็นแหล่งความรู้และ Know-How รวมทั้งเครื่องมือเพื่อการวิจัยและพัฒนาขั้นสูงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมทางอาหารโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม สำหรับโครงการ SPACE-F นั้น คณะวิทยาศาสตร์ฯ จะเสริมกำลังเหล่า Startup ด้วยความรู้และ Know-How ทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนเครือข่ายพันธมิตรที่จำเป็นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเหล่า Startup เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้า จนสามารถเติบโตในตลาดได้อย่างรวดเร็ว ประสบความสําเร็จในธุรกิจต่อไป

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ www.nia.or.th