เปิดตัวแล้วเรียบร้อย! กับ “AGrowth” โครงการบ่มเพาะ Startup สายการเกษตรระดับนานาชาติ!

ความสำคัญของภาคการเกษตรไทยในเวทีโลกคงไม่ใช่เรื่องที่ต้องตั้งคำถามอีกต่อไป เพราะผลผลิตทางการเกษตรจากไทย สร้างรายได้เข้าประเทศปีละหลายแสนล้านบาทเลยทีเดียว ถือว่าเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน 

แต่ปัญหาอย่างหนึ่งของการเกษตรไทย คือการใช้แรงงานคนเป็นหลัก และยังต้องหวังพึ่งพาสภาพดินฟ้าอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดวลาเป็นหลัก จึงทำให้พืชผลทางการเกษตรมีผลผลิตตกต่ำ และไม่ได้คุณภาพเท่าที่ควร

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ร่วมกับบริษัท เนสท์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน และบริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดตัวโครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัพด้านนวัตกรรมการเกษตรระดับนานาชาติ (AGrowth) ครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนธุรกิจและผู้ประกอบการจากทั่วโลก

โดยจะร่วมกันพัฒนา 10 สตาร์ตอัพจาก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินเดีย ไนจีเรีย และออสเตรเลีย ให้มีการเติบโตในทุก ๆ ด้าน นำเอา Solution วิธีต่าง ๆ มาทดลองและใช้จริงกับเกษตรกรตามพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายสูงสุด เพื่อพัฒนาภาคการเกษตรให้เป็น “เกษตรอัจฉริยะ”

พร้อมพลิกโฉมการเกษตรของไทย 5 ด้าน ดังนี้ 

  1. ด้านเทคโนโลยี เปลี่ยนจากเกษตรที่ใช้แรงงาน พึ่งพาฤดูกาล เป็นการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ มาควบคุม และปรับปรุงระบบเกษตรให้แม่นยำมากขึ้น 
  2. ด้านเศรษฐกิจ เปลี่ยนจากการพึ่งพ่อค้าคนกลางในการผลิตและการขาย เป็นการเกษตรที่เกิดรายได้ในตัวเอง 
  3. ด้านการตลาด เปลี่ยนจากตลาดเฉพาะกลุ่มทุนขนาดใหญ่ มาสู่ตลาดที่กระจายแบบเท่าเทียมกัน 
  4. ด้านสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย มาใช้ให้คุ้มค่า เช่น การเพาะปลูกในระบบปิด ที่มีการประหยัดน้ำมากกว่า ร้อยละ 95
  5. ด้านการวางตำแหน่ง เปลี่ยนจากผู้ตามเป็นผู้นำ ประเทศไทยมีความพร้อมและการเกษตรที่หลากหลาย ถ้าเราสามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้ได้ เราจะเป็นผู้นำทางการเกษตร เหมือนอย่างตัวอย่างประเทศต่าง ๆ เช่น เนอร์เธอร์แลนด์ อิสราเอล

โดย 10 สตาร์ตอัพสายการเกษตรที่เข้าร่วมโครงการในปีนี้ ได้แก่ Evergrow, GetzTrac, Fresh Produce Kings จากประเทศไทย Agrisource Data, Pola Drone, Plant Cartridge จากประเทศมาเลเซีย Ubreath , Cropin จากอินเดีย Hello Tractor จากไนจีเรีย และ Food Cube จากออสเตรเลีย

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ www.nia.or.th