การแพร่ระบาดของ ‘COVID-19’ โรคระบาดร้ายแรงที่แพร่กระจายไปทั่วโลก จนมีผู้ติดเชื้อทะลุ 200,000 เคสแล้วเรียบร้อย (ข้อมูล ณ วันที่ 19 มีนาคม 2563) ในขณะที่ไทยเรา ก็มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดผู้ติดเชื้อเกิน 400 ราย และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
แต่สิ่งที่ร้ายแรงยิ่งกว่าเชื้อโรคที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกในตอนนี้ คือการที่มันเข้ามาพร้อม ๆ กับภาวะของเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวทั่วโลกต่างหาก! สิ่งที่เกิดขึ้นอาจะทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งก็มีความเป็นไปได้! เพราะในปัจจุบัน เรายังไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าการแพร่ระบาดของ Covid-19 จะเริ่มคลี่คลายลงเมื่อใด
เพียงแค่ 2 เดือนของการแพร่ระบาดที่เริ่มจากเมืองอู่ฮั่นในประเทศจีน ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจไปแล้วเรียบร้อย ไม่ว่าจะผ่านการท่องเที่ยวที่ลดลง การค้าระหว่างประเทศ ความตระหนกที่ทำให้ประชาชนลดกิจกรรมนอกบ้าน และงาน Event ที่ถูกยกเลิกอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความเชื่อมั่น ที่ถูกสะท้อนผ่านการปรับตัวลดลงของตลาดทุน ล่าสุดปรับตัวลงมาใกล้ระดับ 1,000 จุด (จากจุดสูงสุดช่วงปลายปีที่แล้ว ที่ระดับ 1,830 กว่าจุด)
– ศูนย์วิจัยกสิกรไทย GDP ไทยปี 63 เหลือ 0.5% จากเดิม 2.7%
– สภาพัฒน์ ปรับลดประมาณการณ์ GDP ไทยปี 63 เหลือ 1.5 – 2.5% จากเดิม 3.2%
– EIC ปรับลดประมาณการณ์ GDP ไทยปี 63 เหลือ -0.3% จากเดิม 1.8%
การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 จึงถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในช่วง 6 – 12 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ขาย ประชาชน รวมถึงพนักงานบริษัท จำเป็นต้องปรับการใช้ชีวิต และประคองตัวให้ผ่านพ้นช่วงการระบาดและช่วงภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ไปพร้อม ๆ กัน
หากเราไม่ระวังตัว หามาตรการมารับมือได้อย่างเหมาะสม ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เราต้องจมอยู่ในวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิด แต่ถ้าเราปรับตัวได้ทัน และมีวิธีรับมือที่แรงมากพอ สามารถจบไวรัสตัวนี้ได้เร็ว ครึ่งหลังของปี ก็จะเป็นโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง!
ท่องเที่ยวสะดุด หยุดเส้นเลือดเศรษฐกิจ
ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา สาเหตุหนึ่งที่ให้เศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตได้เป็นเพราะ ‘การท่องเที่ยว’ เมื่อมีการระบาดเกิดขึ้น ภาคการท่องเที่ยวจึงเป็นอันดับแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง การแพร่ระบาดทำให้เกิดการระงับการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่กลัวการติดเชื้อ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ถือเป็นกลุ่มรายได้หลักของพ่อค้าแม่ขายชาวไทย
จากข้อมูลนักท่องเที่ยวของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา ปี 2562 ไทยเรามีนักท่องเที่ยวจากจีน ประมาณ 27.6% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด (ราว ๆ 11 ล้านคน) นักท่องเที่ยวจากยุโรปประมาณ 16.88% (ราว ๆ 6.7 ล้านคน) โดยในกลุ่มนี้เป็นคนอิตาลี เยอรมัน และฝรั่งเศส ที่กำลังมีการระบาดหนักประมาณ 2 ล้านคน ส่วนเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ก็มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวมาไทยประมาณ 9.2% (ราว ๆ 3.7 ล้านคน) จึงเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ ที่ภาคการท่องเที่ยวไทยจะได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ ทั้งธุรกิจร้านอาหาร การขนส่งโดยสาร โรงแรม และธุรกิจต่อเนื่อง
บริโภคในประเทศสะดุด ตกงานเพิ่ม
ในส่วนของการบริโภคในประเทศ ก็เริ่มมีสัญญาณการชะลอตัว จาก 3 สาเหตุหลัก
1. เศรษฐกิจฐานรากของเราได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวมาตั้งแต่ช่วงปีที่แล้ว รวมถึงผลกระทบที่มาจากภัยแล้ง
2. ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 จะเริ่มส่งผลชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 2 อาจจะมีการปลดจากงานเพิ่มขึ้น และถ้าไม่สามารถจบวิกฤติการแพร่ระบาดได้เร็ว เกิดผลกระทบกับธุรกิจต่าง ๆ เป็นเวลานาน อาจจะทำให้เกิดการว่างงานจำนวนมาก ซึ่งจะกระทบต่อกำลังซื้อโดยตรง
3. ความวิตกต่อการแพร่ระบาดจะกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน คนไม่กล้าออกนอกบ้าน โรงหนัง ห้างร้าน สถานบันเทิง ก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก แน่นอนว่าจะมีหลายธุรกิจได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ครั้งนี้ แต่ก็เทียบไม่ได้กับภาพรวมเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ รัฐฯ จึงต้องหามาตรการระงับการระบาดให้สั้นที่สุดเพื่อพลิกฟื้นความเชื่อมั่น
ตลาดทุนกระทบ ทั่วโลกประสบเศรษฐกิจชะลอตัว
สิ่งที่น่ากังวลที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของหนี้เสียที่จะกระทบกันเป็นลูกโซ่ โดยปัจจุบัน หนี้ครัวเรือนไทยจะอยู่ที่ราว ๆ 13.0 – 13.5 ล้านล้านบาท (GDP ไทยประมาณ 15.6 ล้านล้านบาท) หากเกิดภาวะการชะลอตัวยาวนานและมีอัตราการว่างงานเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้เกิดหนี้เสียและกระทบกับการดำเนินงานของสถาบันการเงินได้
ด้านการค้าระหว่างประเทศก็น่าห่วง เพราะหลายประเทศเริ่มใช้มาตรการปิดเมืองเพื่อล้อมกรอบโรคตามแบบจีน การปิดประเทศอาจทำให้การค้าระหว่างประเทศซบเซานานการที่คิด เพราะในหลายภูมิภาคเพิ่งจะเริ่มมีการแพร่ระบาดในระยะแรก ดังนั้นเมื่อประเมินเบื้องต้นแล้ว การค้าระหว่างประเทศและการเดินทางระหว่างประเทศอาจจะชะลอไปถึงอย่างน้อยช่วงเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม
เสนอรับมือ ด้วยยา 3 โดส
ยาโดสแรก “ใช้ยาแรง ดึงความเชื่อมั่น ระงับการแพร่ระบาด”
มาตรการปิดเมืองเพื่อระงับการแพร่ระบาด เป็นมาตราการที่เห็นผลชัดเจน ตัวอย่างจากจีนสะท้อนให้เห็นแล้วว่า หลังการปิดเมืองประมาณ 1 เดือน ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเราต่างรู้ดีว่าระยะเวลาฟักตัวของ Covid-19 อยู่ประมาณ 0-14 วัน
ดังนั้นถ้าให้ประชาชนอยู่แต่ในที่พัก จำกัดการออกจากที่พักอาศัยในระยะเวลา 15-30 วัน ก็จะสามารถสกัดการกระจายเชื้อต่อได้ เมื่อลดการแพร่เชื้อได้ รัฐบาลก็จะสามารถรักษาผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเราประเมินว่าเรามีกำลังทางสาธารณสุขไม่เพียงพอต่อการแพร่ระบาดขนาดใหญ่ด้วยแล้ว ยิ่งต้องเร่งดำเนินการ “ยาแรงมันเจ็บ แต่มันจบ”
ยาโดสที่สอง “งดจ่ายหนี้ งดค่าเช่า งดจ่ายเงินเดือน”
ในช่วงปิดเมืองเพื่อจำกัดการแพร่ระบาด ส่วนที่กระทบอย่างมากคือภาคธุรกิจและลูกหนี้ที่อาจจะต้องขาดรายได้ ดังนั้นมาตรการที่ควรจะใช้คู่ขนานกับการปิดเมืองคือการระงับการจ่ายหนี้ ค่าเช่าทางธุรกิจ และเปิดช่องให้พนักงานหยุดงานโดยไม่รับเงินเดือน
เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ ช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดผ่านช่วงวิกฤตการแพร่ระบาด และลดความเสี่ยงในการเลิกกิจการหรือเกิดหนี้เสียในระบบ โดยมาตรการนี้อาจจะหนุนเพิ่มด้วยการช่วยอุดหนุดค่าครองชีพสำหรับผู้มีรายได้น้อย
ยาโดสที่สาม “กระตุ้นภายใน สร้างกำลังซื้อ รอเศรษฐกิจโลกฟื้น”
ถ้าระงับการระบาดได้แล้ว สิ่งที่ต้องเร่งทำตามมาคือการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการท่องเที่ยว โดยเน้นที่การพึ่งพากำลังซื้อในประเทศ เพราะมีความเป็นไปได้ที่ประเทศอื่นอาจจะยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้
ดังนั้นในช่วงต้นของการฟื้นตัวเราอาจจะต้องพึ่งคนไทยด้วยกันเอง เพื่อรอให้เศรษฐกิจโลกและการแพร่ระบาดในภูมิภาคอื่นคลี่คลาย
แม้วิกฤตการระบาด Covid-19 ครั้งนี้จะไม่ใช่วิกฤตการณ์ครั้งแรกที่ประเทศไทยเคยประสบ แต่ต้องยอมรับว่า ช่วงเวลานี้ เราอยู่ในภาวะที่เปราะบาง เราทุกคนจึงไม่ควรประมาทต่อการรับมือและควรร่วมไม้ร่วมมือกันในการฝ่าวิกฤตครั้งนี้ ผมเชื่อว่าหลังพายุฝนย่อมจะมีฟ้าที่สดใส
จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เรายังไม่สามารถคาดเดาได้อย่างแม่นยำว่าไวรัสที่แพร่ระบาดนี้จะจบลงเมื่อใด แต่เถ้าใครอยากทราบคร่าว ๆ ว่าสถานการณ์ตอนนี้จะไปจบลงที่ตรงไหน ก็สามารถเข้าไปอ่านบทวิเคราะห์จาก McKinsey & Company บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารชั้นนำของโลก ได้ที่ลิงก์นี้เลย > https://starthaiup.com/whats-happening/covid-19-phase-3-thailand/