ตอนที่แล้ว ผมเล่าเรื่อง “4 ความเชื่อ” ที่ผู้ประกอบการมักคิดว่าคนของตนไม่ออนไลน์ อันได้แก่ ข้อจำกัดด้าน อายุ, ความรู้, ประสบการณ์ และทัศนคติ ซึ่งผมได้อรรถาธิบายว่า เหตุใดความเชื่อดังกล่าว จึงเป็นตัวการขัดขวาง ไม่ให้เราไว้วางใจคนที่ร่วมก่อร่างสร้างธุรกิจมาแต่เดิม ในการเดินทางสู่ธุรกิจยุคดิจิทัล
ผมขอขยายความเพิ่มตามประสบการณ์ว่า เราจะทำให้ทีมงานเดิมที่ประสบความสำเร็จในแนวทางธุรกิจแบบ 1.0 หรือ 2.0 ก้าวสู่ 4.0 หรือ 5.0 ได้อย่างไร ด้วย ‘4 ความคิดใหม่ ให้เขาออนไลน์’
4 ความคิดใหม่ ให้เขาออนไลน์
1. คิดให้ชัด วัดผลได้
ถ้าเราบอกว่าการเปลี่ยนธุรกิจเหมือนการเดินทาง การเดินทางก็ควรจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น เราจะไปเชียงใหม่ การเดินทางของเราจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อเราถึงเชียงใหม่ ความเร็ว ความช้า ล้วนเป็นตัวแปรที่เกี่ยวกับเส้นทางและอุปสรรคอื่น
การจะเปลี่ยนคนก็เช่นเดียวกัน ผู้บริหารต้องสามารถกำหนด Terminal Behavior ได้อย่างชัดเจน เพื่อกำหนดมาตรวัดความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ซึ่งการกำหนดพฤติกรรมปลายทางจะเป็นตัวชี้วัด ที่วัดได้ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
ยกตัวอย่างที่ง่ายและดูจะทำได้ง่ายที่สุด อย่างการทำให้กระบวนการทางธุรกิจอยู่บนดิจิทัล ด้วยการลดการใช้กระดาษ (Paperless) ได้ 30-40% เป็นต้น ในเชิงคุณภาพ เราอาจจะวัดจากทัศนคติที่มีต่อการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี เช่น การมีส่วนร่วมผ่านช่องทางสื่อสารออนไลน์ การโต้ตอบกับลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ การแสดงความคิดเห็น หรือให้ Idea ในโครงการที่ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี เป็นต้น โดยการกำหนดตัวชี้วัดนี้ ควรจะสอดคล้องกับการ Evaluate พนักงานด้วย
2. คิดให้เร็ว ปรับเปลี่ยนได้
หัวใจสำคัญของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล คือ ความเร็ว ซึ่งหมายรวมถึงทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการทำธุรกิจ หรือกระบวนการคิดทำความเข้าใจ ผู้บริหารจะต้องกล้าคิด กล้าลอง และกล้าเลิก! สิ่งที่ผมพบอยู่บ่อยครั้งในการ Transform ธุรกิจ คือผู้บริหารมักจะกลัวความผิดพลาด และยึดติดกับรูปแบบเก่า ๆ ว่าการทำอะไรต้องวางแผนอย่างดี เพราะเมื่อเริ่มดำเนินการตามแผนแล้วจะไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้
แต่กระบวนการทางดิจิทัลนั้นสวนทางกัน กล่าวคือ กระบวนการทางดิจิทัลเน้นให้ความสำคัญในการดู Feedback ของแผนงาน ถ้าไม่ Work ก็ไม่ผิดที่จะเร่งแก้ไข และใช้ข้อมูลที่ได้จากการปฎิบัติมาปรับปรุงอยู่เสมอ
การพัฒนาทักษะคนก็ไม่ต่างกัน หลายครั้งที่เราพบว่า การ Transform ธุรกิจ ทำให้คนที่เคยเก่งในสายงานหนึ่ง ได้มีโอกาสใหม่ ๆ ในอีกสายงานหนึ่ง ต้องไม่ลืมว่า ในฐานะผู้บริหาร เราอาจจะโฟกัสที่ธุรกิจ แต่พนักงานเขาโฟกัสที่เส้นทางของเขาเป็นหลัก
3. คิดให้ใหญ่ เริ่มให้เล็ก
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมพนักงานเป็นเรื่องยากเสมอ เรื่องนี้ผมว่าผู้บริหารทุกท่านเข้าใจดี โดยเฉพาะการเปลี่ยนพฤติกรรมที่เจ้าตัวไม่อยากเปลี่ยน ผมจึงแนะนำเสมอว่า การจะ Transform ธุรกิจไปออนไลน์ให้สำเร็จ ต้องเริ่มจากเรื่องเล็ก ๆ ให้พนักงานสัมผัสถึงความสำเร็จเล็ก ๆ ก่อน แล้วจึงค่อยต่อยอดไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ขึ้น
ผมอยากเล่าอย่างนี้ครับว่า ทุกวันนี้เราเป็นเราจากการจดจำความสำเร็จของเราในอดีต เช่น คนที่เคยทำงานหนักและได้รับการยอมรับ ก็จะเชื่อว่าการทำงานหนักเป็นเส้นทางสู่ความสำเร็จ หรือคนที่เคยได้รับโอกาสจากการใช้เส้นสายก็จะพยายามใช้เส้นสายเพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ หากเราทำให้พนักงานพบกับความสำเร็จเล็ก ๆ จากการใช้ดิจิทัลได้ ก็หมายความถึงโอกาสความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตเช่นกัน
4. คิดให้ลึก นึกถึงคน
ทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมานั้น เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการโดยตรงทั้งสิ้น โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการที่ต้องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการต่อยอดธุรกิจต่อไป แต่ผมพบว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการ Transform ธุรกิจนั้นไม่ใช่อื่นเลย นอกจากการทำให้คนทุกระดับเห็นความสำคัญและมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
องค์กรที่ขับเคลื่อนได้เร็ว มักเริ่มต้นจากวัฒนธรรมองค์กรที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจ เกิดการมีส่วนร่วมในทุกระดับ และถ้าคุณอ่านหนังสือเกี่ยวกับหลักการบริหารใหม่ ๆ เกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์ คุณจะพบกับคำว่า ‘Empathy’ ที่แปลว่าความเอาใจใส่ เข้าอกเข้าใจ (คน) อยู่เสมอ
สิ่งที่ผมกำลังจะบอกคือ ยิ่งคุณใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในธุรกิจมากขึ้นเท่าใด คุณยิ่งต้องมีความเข้าใจคนมากขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะสุดท้ายแล้วคนที่ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี ทั้งในเชิงของการใช้เพื่อให้บริการ หรือใช้จากการรับบริการก็คือ “คน”…คุณว่าจริงไหม?
และถ้าใครลืมไปแล้วว่าความเดิมตอนที่แล้วเป็นอย่างไร ก็สามารถแวะไปทบทวนความรู้กันอีกครั้งได้ที่ บทความตอนที่ 1 ของซีรีย์ ‘สร้างคนอย่างไรให้ออนไลน์’ ของเรา >> สร้างคนอย่างไรให้ออนไลน์ : 4 ความเชื่อ ‘เขาไม่ออนไลน์’